|
|
|
เมื่อประมาณ 170 ปีล่วงมาแล้ว ชนมุสลิมกลุ่มหนึ่งจากภาคใต้ของประเทศไทย คือจังหวัดปัตตานี ได้มาตั้งภูมิลำเนาเป็นหมู่บ้านเล็กๆ อยู่ในบริเวณถนนสุขุมวิท ซอย 47 (ซอยบ้านดอน) ขณะนั้นบริเวณดังกล่าวเป็นที่ดอน จึงเรียกชื่อหมู่บ้านนี้ว่า “บ้านดอน” และยังไม่มีมัสยิดที่จะประกอบศาสนกิจ ต่อมาหมู่บ้านนี้(บ้านดอน) มีคนเพิ่มมากขึ้น ทำให้ความเป็นอยู่ได้รับความลำบากนานาประการ เนื่องจากหมู่บ้านนี้ตั้งอยู่บนที่ดอน การขาดแคลนน้ำและการคมนาคมเป็นปัญหาสำคัญยิ่ง จึงได้รวมกันย้ายหมู่บ้านมาอยู่ที่บ้านต้นไทร ริมคลองแสนแสบ เพราะเนื่องจากมีต้นไทรต้นหนึ่ง คนทั่วไปจึงเรียกว่า “บ้านต้นไทร” แต่คนที่เข้ามาตั้งบ้านเรือนอยู่นั้น ได้ย้ายมาจากบ้านดอน จึงเรียกชื่อหมู่บ้านนี้ว่า “บ้านดอน” จนกระทั่งปัจจุบัน |
|
|
เมื่อได้ตั้งหมู่บ้านอยู่ริมคลองแสนแสบแล้ว ความเป็นอยู่ในเรื่องน้ำดื่มน้ำใช้ การคมนาคมตลอดจนการประกอบอาชีพก็ได้รับความสะดวกสบายขึ้นเป็นอันมาก จนทำให้ทุกคนคิดว่าจะต้องสร้างหลักแหล่งอยู่ที่หมู่บ้านนี้ตลอดไป จึงจำเป็นต้องจัดการสร้างมัสยิด เพื่อใช้เป็นสถานที่ประกอบศาสนกิจขึ้น แต่มัสยิดสมัยนั้นเป็นเรือนไม้ชั้นเดียวเล็กๆ ตั้งอยู่ในที่ดินส่วนบุคคล ซึ่งเจ้าของที่ดินอนุญาตให้มัสยิดอาศัยอยู่ โดยมีฮัจยีฮะ มุสตาฟา เป็นอิหม่าม และเมื่อฮัจยีแป้น ได้มาซื้อที่ดินที่มัสยิดตั้งอยู่ จึงได้วากัฟ(อุทิศ)ให้เป็นที่ดินของมัสยิด ร่วมกับนางมัรยัม(แมะ) เลาะเซ็ม ซึ่งเป็นบุตรสาว เป็นเนื้อที่ 62 ตารางวา เมื่อฮัจยีฮะ มุสตาฟา ได้ถึงแก่กรรมลง ฮัจยีเซ็น หวังภักดี ได้เป็นอิหม่าม และได้ดำรงหน้าที่อิหม่ามด้วยความเรียบร้อยตลอดมา |
|
|
|
ต่อมาเมื่อฮัจยีเซ็น หวังภักดี ถึงแก่กรรมลง ฮัจยีอับดุลเลาะห์ กระเดื่องเดช ได้เข้าดำรงตำแหน่งอิหม่าม ได้บริหารและพัฒนามัสยิดให้เจริญขึ้นเป็นลำดับ โดยท่านได้ซื้อที่ดินวากัฟ(อุทิศ) ให้เป็นสมบัติของมัสยิดจำนวน 347 ตารางวา ทำให้ที่ดินของมัสยิดมีบริเวณกว้างขึ้น และได้จัดสร้างมัสยิดหลังใหม่ เมื่อ พ.ศ. 2482 แทนที่มัสยิดหลังเก่าที่มีสภาพทรุดโทรม มัสยิดที่สร้างขึ้นใหม่นี้เป็นเรือนไม้ชั้นเดียว ทำด้วยไม้สัก มีขนาดกว้าง 8 เมตร ยาว 14 เมตร มีมุขหน้า สิ้นค่าก่อสร้างประมาณ 1,250 บาท (หนึ่งพันสองร้อยห้าสิบบาท) และหลังจากได้สร้างมัสยิดเสร็จเรียบร้อยแล้ว ได้พิจารณาเห็นว่าที่ดินรอบคลองแสนแสบ ได้ถูกน้ำกัดเซาะพังเข้ามาอยู่เสมอ จึงได้ลงเขื่อนตลอดแนวที่ดินมัสยิดเป็นที่เรียบร้อย สิ้นเงินประมาณ 175 บาท (หนึ่งร้อยเจ็ดสิบห้าบาท) ท่านได้ดำรงตำแหน่งอิหม่ามตลอดมาเป็นเวลาประมาณ 27 ปี |
|
|
เมื่อ พ.ศ. 2488 ฮัจยีอับดุลเลาะห์ กระเดื่องเดช ได้ถึงแก่กรรมลง อิหม่ามชม มุสตาฟา ดำรงตำแหน่งหน้าที่อิหม่ามสืบมา โดยมีนายสมาน(อามีน) หวังภักดี เป็นคอเต็บ ฮัจยีหมัด เลาะเซ็ม เป็นบิหลั่น ในสมัยนั้นมีจำนวนสัปปุรุษและครอบครัวใหม่ๆเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก และยังไม่ได้รับความสะดวกในเรื่องไฟฟ้าและน้ำประปา คณะกรรมการมัสยิดจึงได้ขออนุญาตติดตั้งขึ้นจนเป็นผลสำเร็จ จนกระทั่ง พ.ศ. 2504 ปรากฏว่าจำนวนสัปปุรุษยิ่งเพิ่มมากขึ้น จนมัสยิดไม่พอแก่การประกอบศาสนกิจ คณะกรรมการมัสยิดได้ตระหนักถึงเรื่องนี้มาก จึงได้ประชุมปรึกษาหารือแก้ปัญหา เห็นว่าสมควรให้สร้างอาคารมัสยิดถาวรขึ้น มีขนาดกว้างใหญ่พอแก่จำนวนสัปปุรุษ ที่จะประกอบศาสนพิธี ซึ่งในการนี้ทางคณะกรรมการมัสยิดได้มีทุนสำรองจากกรมการศาสนา ที่ได้อนุมัติให้ความช่วยเหลือเพื่อการซ่อมแซมตัวอาคารมัสยิดหลังเดิมเป็นจำนวนเงิน 10,000 บาท และจะได้ใช้เป็นทุนเริ่มแรกในการวางรากฐานดำเนินการก่อสร้างมัสยิดหลังใหม่ ซึ่งที่ประชุมได้ลงมติเป็นเอกฉันท์ให้ดำเนินการก่อสร้างได้ และในวาระการประชุมดังกล่าว ปรากฏว่ามีท่านผู้มีจิตศรัทธาอย่างแรงกล้า แสดงเจตจำนงด้วยใจบริสุทธิ์ ช่วยกันบริจาคเงินเพื่อสร้างมัสยิดหลังใหม่ ดังมีรายนามต่อไปนี้ |
|
|
|
- ตวนฮัจยีอิสฮาก ฮัจยะห์ทิม บุษบา เป็นเงิน 200,000 บาท
-
ตวนฮัจยีมูฮำหมัด พุ่มดอกไม้ เป็นเงิน 200,000 บาท
-
ตวนฮัจยีมะห์มูด ฮัจยะห์หย่า มะลิ เป็นเงิน 150,000 บาท
-
ตวนฮัจยีอับดุลเลาะห์ ฮัจยะห์แปลก น้อยนงเยาว์ เป็นเงิน 100,000 บาท
-
ฮัจยะห์อามีนะห์ สาสกุล เป็นเงิน 100,000 บาท
-
ตวนฮัจยีมาน ฮัจยะห์หร่ำ พุ่มดอกไม้ เป็นเงิน 50,000 บาท
-
ตวนฮัจยียูโซะห์ ฮัจยะห์ซุไลคอ สนศิริ เป็นเงิน 20,000 บาท
-
นายพัน ฮัจยะห์ฟาตีเมาะห์ โพธิบุตร เป็นเงิน 20,000 บาท
-
นายซัน ฮัจยะห์อาอีซะห์ ออมแก้ว เป็นเงิน 10,000 บาท
-
นายหวังลี นางมณี จิตต์อีหมั่น เป็นเงิน 10,000 บาท
|
|
|
เมื่อคณะกรรมการได้พิจารณาถึงจำนวนเงินที่ได้รับบริจาคนี้ เห็นว่ามีจำนวนเงินมากพอที่จะก่อสร้างมัสยิดถาวรได้ จึงได้กำหนดโครงการสร้างอาคารคอนกรีตเสริมเหล็กสองชั้น มีขนาดกว้าง 19 เมตร ยาว 37 เมตร โดยมีหออาซานพร้อมสรรพ แต่ก่อนที่จะลงมือทำการก่อสร้าง คณะกรรมการมัสยิดเห็นว่า ควรจะได้ขยายที่ดินให้มีบริเวณกว้างมากกว่าที่มีอยู่เดิม จึงได้ลงมติซื้อที่ดินบริเวณติดต่อกันเพิ่มขึ้นอีก 100 ตารางวา เป็นเงิน 35,000 บาท (สามหมื่นห้าพันบาทถ้วน) โดยจัดสรรให้บรรดาสัปปุรุษซื้อและได้ทำการวากัฟ(อุทิศ)ให้เป็นสมบัติของมัสยิดจนเป็นผลสำเร็จ และในการนี้นางกามาเรียะห์ กระเดื่องเดช กับนางแมะ กระเดื่องเดช ได้วากัฟ(อุทิศ)ที่ดินให้เพิ่มขึ้นอีกรายละ 5 ตารางวา รวมเป็น 10 ตารางวา ดังนั้นมัสยิดจึงมีที่ดินรวมทั้งสิ้น 519 ตารางวา แต่ด้วยบริเวณส่วนหนึ่งของที่ดินที่จะสร้างมัสยิดหลังใหม่เป็นบ่อใหญ่และลึก จำเป็นต้องจัดการถมดินเสียก่อน และในการนี้ฮัจยีมะห์มูด มะลิ และนายพัน โพธิบุตร ได้ยอมให้ขุดดินในที่ดินของตน เพื่อมาถมบ่อจนเต็มเป็นที่เรียบร้อย |
|
|
ด้วยมัสยิดนี้ตั้งอยู่ริมคลองแสนแสบ การคมนาคมทางบกยังไม่ได้รับความสะดวกเท่าที่ควร คณะกรรมการจึงได้มีโครงการตัดถนนเข้าสู่มัสยิด เชื่อมจากซอยประเสริฐสิษฐ์ ซึ่งซอยนี้แยกจากซอยสุขุมวิท 49 (ซอยกลาง) ในการนี้ได้มีผู้ยินยอมให้ที่ดินสำหรับทำถนนพร้อมด้วยเนื้อดินถมเป็นถนนคือ |
|
|
- ฮัจยีกอเซ็ม หนูรักษ์ เนื้อที่ 160 ตารางวา
- ฮัจยะห์ฮัฟเซาะห์ ออมแก้ว เนื้อที่ 160 ตารางวา
- ฮัจยีหวังลี จิตต์อีหมั่น เนื้อที่ 100 ตารางวา
- นายหรี่ นางเด๊ะ เนื้อที่ 11 ตารางวา
- ฮัจยีซัลลีม หนูรักษ์ เนื้อ 80 ตารางวา
- นางแมะ กระเดื่องเดช เนื้อที่ 67 ตารางวา
- ฮัจยีเกษม วงษ์ปถัมภ์ เนื้อที่ 69 ตารางวา
- ฮัจยีเดช หนูรักษ์ เนื้อที่ 69 ตารางวา
|
|
|
|
ต่อจากนั้นได้จัดทำถนนกว้าง 4 เมตร ยาวประมาณ 200 เมตร และนายพัน โพธิบุตร ได้สละที่ดินถมถนนเพิ่มขึ้นอีกจนแล้วเสร็จเมื่อได้จัดทำถนนและขยายที่ดินเป็นที่เรียบร้อยแล้วก็ได้เริ่มดำเนินการก่อสร้างมัสยิดโดยวิธีการเปิดซองประมูลราคา ซึ่งได้แก่ บริษัทวัฒนาก่อสร้างจำกัด เป็นรับเหมาทำการก่อสร้างตามแบบแปลนของเทศบาลนครกรุงเทพฯ โดยคณะกรรมการและสัปปุรุษ ได้มอบความไว้วางใจแต่งตั้งให้นายสมพร พุ่มดอกไม้ กรรมการมัสยิดคนหนึ่ง ผู้เป็นกำลังสำคัญในการก่อสร้างครั้งนี้ เป็นผู้เซ็นสัญญากับบริษัทวัฒนาก่อสร้างจำกัดแต่เพียงผู้เดียว และได้แต่งตั้งฮัจยีสมาน หวังภักดี คอเต็บ และฮัจยีหมัด เลาะเซ็ม บิหลั่น เป็นหัวหน้าควบคุมการก่อสร้าง และได้แต่งตั้งให้อาจารย์มูฮำหมัด มะหะหมัด (ครูหมัดไฝ) เป็นเจ้าหน้าที่รับเงินบริจาค ทำหน้าที่ควบคุมดูแลและเก็บรักษาเงินของมัสยิดแต่ผู้เดียว |
|
|
เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2505 คณะกรรมการมัสยิดและสัปปุรุษได้จัดงานวาง “ศิลารากฐาน” โดยท่านจุฬาราชมนตรี ต่วน สุวรรณศาสน์ ในวันนั้นได้มีพี่น้องมุสลิมจากภายในตำบลและภายนอกตำบลอื่นๆ ได้บริจาคสมทบทุนเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เป็นจำนวนเงิน 140,000 บาท (หนึ่งแสนสี่หมื่นบาท) |
|
|
มัสยิดหลังใหม่นี้ สร้างเป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็กสองชั้น มีขนาดกว้าง 19 เมตร ยาว 37 เมตร มีมุขหน้า มีชานโดยรอบกว้าง 2 เมตร พื้นไม้แดง มีสองโดม และหออะซานสูงประมาณ 20 เมตร มีรั้วเหล็กและกำแพงคอนกรีตล้อมรอบบริเวณ จัดทำที่สำหรับอาบน้ำละหมาด 10 ก๊อก ห้องน้ำ 3 ห้อง ตั้งแต่เริ่มทำการก่อสร้างจนแล้วเสร็จเป็นเวลา 11 เดือน ค่าก่อสร้างรวมทั้งสิ้นเป็นเงิน 1,036,000 บาท (หนึ่งล้านสามหมื่นหกพันบาท) เงินที่ใช้ในการก่อสร้างได้รับบริจาค
จากบรรดาสัปปุรุษ ที่ได้นำมาบริจาคสมทบ ซึ่งทั้งนี้ทางมัสยิดมิได้ส่งผู้แทนออกเรี่ยราย ณ ที่ใดเลย ด้วยผลงานต่างๆที่กล่าวมาแล้ว ได้ประสบความสำเร็จจนปรากฏผลเป็นที่น่าภาคภูมิใจ ทั้งนี้ได้รับความร่วมมือร่วมใจจากบรรดาสัปปุรุษของมัสยิดนี้ และคณะกรรมการทุกคนได้ปฏิบัติหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายอย่างมีประสิทธิภาพ ตลอดจนการประสานงานและความสามัคคีอันเข้มแข็งของกรรมการชุดปัจจุบัน เราทุกคนต่างยึดมั่นในคติที่ว่า “ความสามัคคีเป็นบ่อเกิดแห่งความสำเร็จ” อัลฮัมดุลิ้ลลาฮ์ ด้วยบารอกัตและเนียะมัตขององค์อัลเลาะห์ตาอาลา กิจกรรมอันสำคัญนี้จึงสำเร็จลุล่วง สมความมุ่งหมายทุกประการ |
|
|
รายชื่อบรรดาอิหม่ามมัสยิดดารุ้ลมุห์ซีนีน(บ้านดอน) ตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน |
|
- ฮัจยีฮะ มุสตาฟา
- ฮัจยีฮุเซ็น หวังภักดี
- ฮัจยีอับดุลเลาะห์ กระเดื่องเดช
- ฮัจยีชม มุสตาฟา
- ฮัจยีอับดุลมุบีน มะลิ
- ฮัจยีอุสมาน มะลิ
- ฮัจยีมุฮำหมัดยาลาลุดดีน (อรุณ) บุญชม (ปัจจุบัน)
|
|
|
|
นอกจากนี้ในชุมชนดารุ้ลมุห์ซีนีน(บ้านดอน) ยังมีสถาบันสอนศาสนา ที่ผลิตบุคลากรรับใช้สังคมมุสลิมมากมาย นั่นคือ โรงเรียนมิฟตาฮุ้ลอุลูมิดดีนียะห์ |
|
|
|
|
|